โครงการ “อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมศิลปะการพับดอกบัวในงานบุญ”

ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง จัดโครงการ “อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมศิลปะการพับดอกบัวในงานบุญ” ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารตรีศร สำนักการศึกษาต่อเนื่อง ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ในการพับดอกบัวในงานบุญ รูปแบบ
การอบรม มีการฝึกปฏิบัติด้วยตนเองและการศึกษาผ่านแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมออนไลน์ โดยได้รับเกียรติ
จากวิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริชาติ  ดิษฐกิจ บรรยายให้ความรู้เรื่องต่างๆ ของบัวไทย และนางสาว
วรรณวิลัย พูลอนันต์ เป็นวิทยากรฝึกปฏิบัติ “ศิลปะการพับดอกบัวในงานบุญ” โดยผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฏิบัติการพับดอกบัวในแบบต่างๆ หลากหลายรูปแบบ  เช่น แบบกลีบมะลิซ้อน กลีบพัดสัตตบุษย์  กลีบประกายจันทร์ กลีบดอกจันทร์ฉาย กลีบกังหัน  กลีบแบบสุโขทัย  กลีบแบบดอกพุดตาล  กลีบแบบลาวัณย์ กลีบแบบกุหลาบ ซึ่งแต่ละแบบมีความสวยงามประณีตบ่งบอกถึงวิถีชีวิตและความอ่อนโยนของคนไทย

“ดอกบัว” คนไทยมักนำดอกบัวไปบูชาพระ โดยเฉพาะในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ซึ่งมีวันสำคัญประจำปี ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันอัฏฐมีบูชาหรือวันถวาย
พระเพลิงพระพุทธเจ้าที่เรามักไปทำบุญ รักษาศีล ปฏิบัติภาวนาที่วัดกัน ดังนั้นการที่พุทธมามกะนำดอกบัว
ไปไหว้พระหรือถวายพระ โดยพระพุทธองค์ยังเปรียบเทียบมนุษย์ไว้ว่ามี 4 เหล่าเช่นเดียวกับดอกบัว อย่างที่เราเรียกกันติดปากว่า“บัวสี่เหล่า”นั่นเอง เพราะเหตุนี้เองชาวพุทธเลยถือว่าดอกบัวโดยเฉพาะ “ดอกบัวหลวง”
เป็นดอกไม้ที่บริสุทธิ์และเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ ชาวพุทธเลยนิยมนำดอกบัวมาไหว้พระและใช้ในพิธีทางศาสนาโดยมีการพับดอกบัวให้สวยงามด้วยรูปแบบต่างๆ ซึ่งการพับดอกบัวถวายพระเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธมาช้านาน การพับดอกบัวนอกจากจะเพิ่มความงดงามและทำให้ดอกบัวอยู่ได้นานแล้วยังเป็นสิ่งที่
บ่งบอกถึง ศิลปะการพับ คลี่ ม้วน และจับจีบ จึงถือเป็นการสร้างความแปลกใหม่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิมๆ และเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ดอกบัวมากยิ่งขึ้น บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและความอ่อนโยนของคนไทยอีกด้วย

ในการจัดอบรมครั้งนี้ ผู้เข้าอบรมสามารถพับดอกบัวเพื่อใช้ในงานบุญและใช้ชีวิตประจำวันได้
รวมถึงเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพได้ และฝ่ายอุทยานการศึกษาได้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ส่งเสริมการเรียนรู้
ด้านศิลปวัฒนธรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการเรียนรู้  จำนวน 1 เรื่องให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนใช้ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป

 

เขียนข่าว : นางสาวบุญทิพย์  ช่วยรัตแก้ว ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง